บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

อาการปวดเมื่อยเกิดจากอะไร

อาการปวดเมื่อยเกิดจากอะไร

ผู้สูงอายุหลายท่าน มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาวันละหลาย ๆ เม็ด และพบว่ายาที่ผู้สูงอายุใช้มากกลุ่มหนึ่ง คือยาแก้ปวด ซึ่งรวมทั้งยาลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อ ยาชุด และยาลูกกลอน ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะพบกับปัญหาปวดตามตัว และปวดได้เกือบทุกที่ เช่น ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง เอว ปวดขา และปวดเข่า บางโรคปวดเวลาเดิน พอนอนพักอาการก็จะดีขึ้น บางโรคพอนอนแล้วอาการกลับมากขึ้น พอเดินไปสักพักก็ค่อยยังชั่ว ผู้สูงอายุจึงต้องพึ่งยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเหล่านี้

อาการปวดเมื่อยเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่



1. การปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อทำงานมากในบางตำแหน่ง ทำให้เกิดความล้าหรือเกิดอาการหดเกร็งเฉพาะที่ ส่วนใหญ่อาการปวดแบบนี้จะปวด ๆ เมื่อย ๆ ในบริเวณของกล้ามเนื้อที่มีปัญหา มักพบที่ศอกหลังและเอวเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเป็นผลมาจากการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งก้มหลังมากเกินไป อาจจะเพราะมีความเคยชิน หรือหลังโกงจากกระดูกสันหลังทรุด

กล้ามเนื้อหลังบางส่วนมีการหดเกร็งมากกว่าปกติ ทำให้ปวดได้ สาเหตุที่พบบ่อยอีกประเภทหนึ่ง คือ ท่านอนที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้หมอนสูงเกินไป ทำให้คอเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าปกติ ที่นอนนิ่มเกินไป พอลงไปนอนที่นอนยุบตัวลง ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะโก่งงอเป็นเวลานาน พอตื่นขึ้นมาจะรู้สึกเมื่อย และในทางกลับกันถ้าใช้ที่นอนแข็งเกินไป และนอนหงายเป็นส่วนใหญ่ กระดูกสันหลังส่วนเอวจะมีการแอ่นตัวผิดปกติ เพราะส่วนก้นและสะโพกก้นติดกับพื้น หนุนให้ส่วนเอวแอ่นขึ้นทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน การยกของหนักโดยใช้ท่าที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการปวดเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ จึงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการยกของเป็นพิเศษ

2. อาการปวด จากเส้นเอ็น

พบบ่อยบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวข้อมาก ๆ เช่น บริเวณไหล่ ศอก ข้อมือ ส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นในบริเวณนี้ และถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจจะทำให้เกิดความพิการต่อไป เช่น ไหล่ติด ยกแขนไม่ขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามที่ควรจะเป็น

3. อาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ

ทำให้มีอาการปวดแสบ และร้าวไปตาม เส้นประสาทนั้น ๆ ถ้ามีอาการมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทนั้นอ่อนแรงลง ถ้าเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาถูกกด อาจจะทำให้เดินลำบากได้ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือที่บริเวณกระดูกคอ เกิดขึ้นจากกระดูกสันหลังบริเวณคอเสื่อม มีแคลเซียมมาเกาะ และกดลงไปที่เส้นประสาทที่ออกจากช่องระหว่างกระดูกคอ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่คอ ไหล่ และอาจจะปวด ลงไปที่แขน และมือ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่คอด้านใดด้านหนึ่ง บางรายถ้าเป็นมากอาจจะเป็นทั้ง 2 ด้านก็ได้

นอกจากที่คอแล้ว บริเวณหลัง เอว ก็เกิดอาการนี้ได้บ่อยเช่นกัน ส่วนมากเกิดจากการยกของหนัก ในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ส่วนของกระดูกสันหลังที่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง 2 อัน เคลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิม มากดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดหลังอย่างมาก และส่วนใหญ่จะเป็นแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดร้าวไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดที่รุนแรงจนถึงขั้นต้องนอนพักหลาย ๆ วัน

4. ปวดข้อ

ผู้สูงอายุเป็นโรคข้อได้หลายโรค ที่เจอบ่อยได้แก่ข้อเสื่อม ส่วนมากมักพบที่หัวเข่า โดยเฉพาะในรายที่อ้วนมาก หรือในคนที่ทำงานแบกหาม ต้องแบกของน้ำหนักมาก ๆ นาน ๆ ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ผู้ที่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้ง และขึ้นลงอย่างรุนแรง (วิ่งหรือกระโดดลง) ทำให้กระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมมากกว่าปกติ เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดอาการปวดข้อได้ ลักษณะการนั่งของคนไทยที่นิยมนั่งกับพื้น โดยการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งยอง ๆ มีการพับงอของหัวเข่าอย่างมาก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบเข่า มีการยืดผิดปกติ และในช่วงที่มีการงอเข่ามาก ๆ เลือดจะมาเลี้ยงเข่าไม่สะดวก ทำให้หัวเข่าไม่แข็งแรง และเกิดปัญหาในเวลาต่อมาได้

นอกจากนี้ที่บริเวณหัวเข่าแล้ว ข้อเสื่อมบริเวณนิ้วมือก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน จะมีอาการปวดและข้อบวมโตกว่าปกติ ที่ข้อนิ้วมือส่วนปลายเกือบทุกนิ้ว ส่วนมากมักพบในสตรี คิดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ใช้มือมากเช่น ซักและบิดผ้า เป็นต้น

การปวดข้อที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้แก่ จากโรคเก๊าท์ การติดเชื้อในข้อ และโรคข้อชนิดอื่น เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่ มักจะเริ่มปวดข้อครั้งแรกในวัยกลางคน มักปวดที่ข้อที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้าเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะปวดที่ข้ออื่น ๆ ก็ได้ อาการปวดมักเริ่มในตอนกลางคืน และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมา ที่ข้อจะมีอาการบวม แดง ร้อนชัดเจน และเจ็บมากเวลามีการเคลื่อนไหวหรือถูกกระทบกระทั่ง สาเหตุเกิดจากกรดยูริกในเลือดไปตกตะกอนที่ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ในผู้ป่วยบางรายได้รับการรักษาอาการข้ออักเสบจากเก๊าท์ดีขึ้นแล้ว มักจะคิดว่าหายแล้ว และไม่ได้ติดตามรับการรักษาต่อไป อาจจะกลับมามีอาการปวดข้อได้อีกเป็นระยะ ๆ ส่วนมากจะพบหลังจากการปวดครั้งแรกประมาณ 5-10 ปี ดังนั้นถ้าหากได้รับการวินิจฉัยว่า ปวดข้อจากโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ควบคุมอาหารที่อาจจะกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นอีก แล้วจะต้องพบแพทย์และติดตามการรักษาเป็นระยะ เพื่อควบคุมให้ปริมาณกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม

5. การปวดเมื่อยจากเส้นเลือด

ถ้ามีการผิดปกติของเส้นเลือดแดง หรือเส้นเลือดดำก็จะทำให้เกิดอาการปวดได้ แต่ลักษณะการปวดจะแตกต่างกันไป ถ้าเส้นเลือดแดงตีบแคบลง เลือดเดินไปสู่กล้ามเนื้อไม่สะดวก จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อนั้น ๆ ได้ การปวดจะเป็นค่อนข้างเร็ว และมักจะมีอาการจนทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดการเคลื่อนไหว หรือการใช้งานของกล้ามเนื้อนั้น ๆ เช่น ถ้าเส้นเลือดแดงที่ขาตีบ ถ้าเดินมากกล้ามเนื้อขาต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปไม่ได้ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานต่อไปไม่ไหว เกิดอาการเจ็บปวดจนต้องหยุดเดินและนั่งพัก หลังจากหยุดเดินสักพักอาการดีขึ้น ปวดลดลง ก็สามารถจะเดินต่อไปได้อีก

หลอดเลือดดำผิดปกติ เกิดจากหลอดเลือดดำมีการโป่งพอง เนื่องจากลิ้นกั้นในหลอดเลือดดำผิดปกติไป ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ขา พบในคนที่ต้องยืนทำงานเป็นเวลานาน ๆ และอาจพบบ่อยในสตรีที่มีบุตรหลาย ๆ คน เพราะการตั้งครรภ์บุตรแต่ละคนนั้น เมื่อทารกในครรภ์โตขึ้น ก็จะกดลงที่เส้นเลือดดำในช่องท้องส่วนล่าง ทำให้เลือดดำจากขากลับสู่ช่องท้องไม่สะดวก เลือดจึงคั่งอยู่ที่ขา ทำให้ลิ้นกั้นในหลอดเลือดดำเสีย เกิดอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อซึ่งมีเลือดคั่งอยู่ ส่วนมากจะมีอาการตอนช่วงเย็นของวันที่มีการยืนมาก ๆ และบางครั้ง อาจปวดมากขึ้นในเวลานอน ถึงขั้นรบกวนการนอนหลับก็เป็นได้


หลักในการป้องกันและรักษาผู้ที่มีปัญหาปวด เมื่อย


ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

การถนอมใช้

ขา เข่า เท้า เป็นอวัยวะที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวไปมาในที่ต่าง ๆ ได้ ควรใช้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงท่านั่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่อหัวเข่า หลีกเลี่ยงการยืนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน แต่ถ้ามีความจำเป็นเพราะอาชีพบังคับ ก็ต้องพยายามหาช่วยเหลือให้อวัยวะส่วนนั้นรับภาระเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการวิ่งหรือกระโดดบนพื้นที่ขรุขระ เพราะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อข้อเท้าและหัวเข่า พยายามอย่าอ้วน เพื่อมิให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินจำเป็น ส่วนการถนอมใช้กระดูกสันหลั งและกล้ามเนื้อหลังนั้น หลักใหญ่ควรอยู่ที่รู้จักทรงตัว และอยู่ในท่าที่เหมาะสมทั้งท่านั่ง นอน ยืนและเดิน การยกของหนักก็ต้องมีวิธียกที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหลังและกระดูกสันหลัง

การเพิ่มศักยภาพ

กล้ามเนื้อในผู้สูงอายุมีการฝ่อ ลีบไปตามวัย ยิ่งอายุมากขึ้นปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกายก็ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ขาดความแข็งแกร่ง และเมื่อต้องทำงานที่เกินความสามารถของกล้ามเนื้อนั้น ก็จะทำให้เกิดการหดเกร็งตัวผิดปกติ อาจมีการบาดเจ็บทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ จึงควรออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อที่ต้องรับภาระหนักเสมอ ๆ เช่น กล้ามเนื้อคอ ไหล่ แขน หลัง หน้าท้อง ให้แข็งแรงเพื่อสามารถปฎิบัติภาระกิจได้ตามความจำเป็น การฝึกกล้ามเนื้อรอบข้อสม่ำเสมอ ทำให้ข้อนั้นมีความมั่นคงไม่เกิดการบาดเจ็บง่าย ๆ ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดดำโป่งพองทำให้ปวดขา สามารถผ่อนคลายอาการได ้โดยใช้ถุงเท้ายาวหรือผ้ายืดที่มีลักษณะเป็นถุงใส่รัดขา ซึ่งจะช่วยบังคับให้เลือดไหลกลับเข้าสู่ช่องท้องได้ดีขึ้น

การพยาบาล

เมื่อมีอาการเจ็บปวดเฉียบพลัน ในบางกรณีอาจมีการเจ็บปวดอย่างมากที่กล้ามเนื้อ ข้อ หรือที่กระดูกต่าง ๆ การช่วยเหลือในระยะต้นได้แก่

หยุดพักร่างกายส่วนนั้น

ถ้าอาการปวดเกิดจากการเกร็งตัวหรือการอักเสบของส่วนนั้น ๆ ให้ประคบความร้อน แต่ถ้ามีอาการบาดเจ็บเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ จะต้องประคบด้วยความเย็นใน 24 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บเพื่อให้เลือดหยุด หลังจาก 24 ชม. ไป แล้วจึงจะให้ประคบอุ่นหรือประคบความร้อน
ถ้ามีอาการมากต้องปรึกษาแพทย์

หลังจากผ่านช่วงความเจ็บปวดเฉียบพลันแล้ว จะต้องบริหารส่วนที่บาดเจ็บอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ เพื่อให้ส่วนนั้นได้กลับมาทำงานต่อไป และลดภาวะ เอ็นยึด ข้อติด ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นภาวะทุพพลภาพได้

© 2001 พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น