บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

โรคมะเร็งกระดูกมีอาการอย่างไร


โรคมะเร็งกระดูกมีอาการอย่างไร


โรคมะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคของเด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงในผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยใหม่โรคนี้เพียงประมาณปีละ 650-700ราย ทั้งนี้พบในเด็กชายได้บ่อยกว่าเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า ส่วนในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ในเพศหญิง 0.8 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน และพบในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชาย 100.000 คน



โรคมะเร็งกระดูกมีกี่ชนิด?

โรคมะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor) และโรคมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor)
  • โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง ซึ่งเมื่อกล่าวถึง โรคมะเร็งกระดูก จะหมายถึงโรคมะเร็งปฐมภูมิเสมอ และจะกล่าวถึงในบทความนี้
  • โรคมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor) คือ โรคมะเร็งที่พบในกระดูกจากมีโรคมะเร็งชนิดอื่นๆแล้วแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก ที่พบได้บ่อย คือ แพร่กระจายมาจาก โรคมะเร็งเต้านมโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งโรคมะเร็งในกลุ่มนี้จะไม่เรียกว่า โรคมะเร็งกระดูก แต่เรียกว่า โรคมะเร็งแพร่กระจายมากระดูก หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก ดังนั้นบทความนี้จึงจะไม่กล่าวถึงโรคมะเร็งในกลุ่มนี้โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ หรือโรคมะเร็งกระดูก มีหลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ ชนิด ออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) พบเป็นประมาณ 60% และชนิด อีวิง บางคนเรียกว่า ยูวิง (Ewing’s sarcoma) พบเป็นประมาณ 35% ของโรคมะเร็งกระ ดูกทั้งหมด ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งกระดูก จึงหมายถึงโรคมะเร็งทั้ง 2ชนิดนี้ ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย

โรคมะเร็งกระดูกเกิดกับกระดูกส่วนไหนบ้าง?

โรคมะเร็งกระดูกเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกาย แต่มักเกิดกับกระดูกเพียงชิ้นเดียว แต่สามารถแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) สู่กระดูกชิ้นอื่นๆได้ในลักษณะเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ โอกาสเกิดในด้านซ้าย และด้านขวาใกล้เคียงกัน
โรคมะเร็งออสตีโอซาร์โคมา มักเกิดกับกระดูกขาและแขน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆกับข้อกระดูก โดยพบเกิดกับ
  • กระดูกต้นขาประมาณ 50%
  • กระดูกขา (ส่วนล่าง) ประมาณ 30%
  • กระดูกต้นแขนประมาณ 10%
  • กระดูกลำตัว (สะโพก หรือกระดูกซี่โครง) ประมาณ 5%
  • กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
  • และกระดูกอื่นๆที่เหลือประมาณ 2%
โรคมะเร็งอีวิง พบเกิดกับกระดูกขา และแขนได้สูงกว่ากระดูกชิ้นอื่นๆเช่นเดียวกับโรคมะเร็งออสติโอซาร์โคมา แต่มักเกิดตรงกลางของท่อนกระดูก นอกจากนั้น พบเกิดกับกระดูกของลำตัวได้สูง ทั้งนี้พบเกิดกับ
  • กระดูกลำตัวได้ประมาณ 45%
  • กระดูกต้นขาและกระดูกขา ประมาณ 30%
  • กระดูกต้นแขน และกระดูกแขนประมาณ 15%
  • กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
  • และกระดูกอื่นๆที่เหลือประมาณ 5-10%

โรคมะเร็งกระดูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งกระดูกที่ชัดเจน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง คือ
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในผู้มีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคได้สูงในคนผิวขาว และผิวดำเป็นประมาณ 2 เท่าของคนเอเชีย
  • อาจจากการที่กระดูกเคยได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูงในวัยเด็ก เช่น จากการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
  • เป็นโรคมะเร็งบางชนิดมาก่อน เช่น โรคมะเร็งตาในเด็ก ซึ่งเด็กที่เป็นโรคมะเร็งชนิดนี้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสติโอซาร์โคมาได้สูงกว่าคนทั่วไป

โรคมะเร็งกระดูกมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคมะเร็งกระดูก คือ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น ต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จึงอาจคลำได้ก้อนเนื้อตรงกระดูกส่วนที่เกิดโรค หรือในบริเวณนั้นบวม อาจปวดเจ็บ และเป็นสาเหตุให้กระดูกหักได้ (กระดูกหัก เป็นผลสืบเนื่องจากโรค ไม่ใช่สาเหตุ แต่คนทั่วไปมักเชื่อว่า กระดูกหักเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งกระดูก)
ถ้าโรคเกิดใกล้บริเวณข้อ จะส่งผลให้เกิดการติดขัดของการใช้ข้อ หรือข้อยึดติด
เมื่อโรคลุกลาม อาจส่งผลให้ก้อนเนื้อแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง หรือโรคแพร่ กระจายเข้าไขกระดูก ก่อให้เกิดภาวะ ซีด และอ่อนเพลีย บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ
เมื่อโรคลุกลาม อีกอาการที่อาจตรวจพบได้ คือ คลำพบต่อมน้ำเหลืองตามข้อพับที่ใกล้กับกระดูกที่เกิดโรค โต คลำได้ ไม่เจ็บ เช่น ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต เมื่อโรคเกิดกับกระดูกต้นขา เป็นต้น
http://haamor.com ภาพจาก อินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น